Past first barrier

สมาคมจิตอาสาย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ Peace Village ถึงตอนนี้ก็ล่วงมากว่า 5 เดือนแล้ว ถือว่าเริ่มจะลงตัวกับการเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ ในช่วงสองสามเดือนแรกที่ย้ายมานั้นถือเป็นฤดูมรสุมของภาคใต้ ซึ่งจะมีฝนตกอยู่เกือบทั้งวันคืน รวมทั้งเกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ง่าย

ที่ Peace Village ก็เช่นกัน เนื่องจากสมรภูมิที่ตั้งเป็นทางระบายของน้ำ เพราะตั้งอยู่หน้าคลองจำไหร ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และโชคร้ายที่ประตูระบายน้ำใหญ่ที่อยู่หน้าศูนย์ถูกขโมยโดยคาดว่าน่าจะเป็นคนรับซื้อของเก่า (จากคำบอกเล่าของเพื่อนบ้าน) ทำให้ทุกครั้งที่ฝนตก และน้ำในคลองเอ่อขึ้น น้ำส่วนหนึ่งก็จะไหลเข้ามาภายในศูนย์ท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของศูนย์ ทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ก็ต้องเรียนรู้พื้นที่ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปพร้อม ๆ กัน

สิ่งที่เห็นได้ชัด คือวิธีการรับมือกับปัญหาของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเช่นกัน ลักษณะน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นภายใน Peace Village นั้นก็เช่นเดียวกับลักษณะน้ำท่วมของภาคใต้ คือเป็นลักษณะของการระบายน้ำไม่ทัน เพราะปริมาณน้ำที่มีมากและไหลมาบรรจบกันอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามน้ำก็จะไม่ท่วมขังอยู่เป็นระยะเวลานานดังเช่นภาคกลาง หรือภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เพราะภาคใต้นั้นมีภูมิศาสตร์ติดกับทะเลทั้งสองฝั่ง ทำให้น้ำสามารถระบายลงสู่ทะเลได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 2 วัน ซึ่งระยะเวลาสั้นเช่นนี้ ทำให้ชาวใต้ส่วนใหญ่และชาว Peace Village นั้นไม่มีความจำเป็นมากนักในการอพยพ หากมีพื้นที่สูงให้พอที่จะสามารถพักพิงอยู่ได้

ช่วงฤดูมรสุมที่ผ่านมาสามเดือนแรกของการย้ายเข้ามาอยู่ใน Peace Village นั้น เราเจอน้ำท่วมนับครั้งไม่ท่วม (มากกว่า 10 ครั้งภายในสามเดือน) เพราะแทบทุกครั้งที่ฝนตกหนัก น้ำก็จะไหลเข้าท่วมศูนย์ฯ เพราะไม่มีประตูระบายน้ำให้สามารถปิดทางน้ำไหลเข้าสู่ศูนย์ฯ และพื้นที่ที่จะโดนน้ำท่วมก่อนคือบริเวณที่พักของอาสาสมัคร เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อาสาสมัครบางคนถึงกับสบถด่าว่าว่าไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี หรือทำให้พวกเขาต้องมาหาทางเอาตัวรอด ในขณะที่พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมาเจอกับสภาพการณ์เช่นนี้ ในขณะที่บางคนนิ่งเงียบ และปฏิบัติตามสิ่งที่มติที่ประชุมตกลงกันในการแก้ปัญหา ในขณะที่บางคนพยายามเสนอความคิดที่จะแก้ปัญหาภายใต้ความไม่รู้ (ความไม่รู้นี้หมายถึง ความไม่รู้จักสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ ลักษณะนิสัยของผู้คนท้องถิ่น เป็นต้น)

เมื่อน้ำท่วม สิ่งแรกที่ต้องทำคือยกสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง และจนกว่าน้ำจะลดจึงเริ่มทำความสะอาด แต่การยกของขึ้นลงและทำความสะอาดหลายครั้งก็สร้างความเหนื่อยหน่ายให้กับทุกคน ซึ่งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการติดต่อกรมชลประทาน จังหวัดสงขลา เพื่อซ่อมแซมประตูระบายน้ำบริเวณหน้าศูนย์ฯ ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเช่นกันสำหรับระบบราชการไทย

ครั้งแรกที่เราติดต่อไปนั้น เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่า หัวหน้าหน่วยไปบวชในโครงการบวชเพื่ออุทิศให้ในหลวงหรืออะไรสักอย่าง ข้อสรุปคือลูกน้องไม่สามารถสั่งการ หรือตัดสินใจใด ๆ ได้ ต้องรอเท่านั้น

ครั้งที่สองที่น้ำท่วมอีก เราติดต่อไปว่า เราแทบจะไม่ไหวกันแล้ว หากต้องรอจนกว่าหัวหน้าหน่วยจะสึก เพราะครูอาสาจากต่างประเทศกำลังจะขนข้าวของกลับบ้าน เพราะไม่สามารถทนอยู่กับสภาพน้ำท่วมซ้ำซากได้ (เหตุผลในการต่อรองอาจฟังดูไม่ดีนัก แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เพราะอาสาสมัครบางคนก็ปรามาสไว้ว่า คนไทยอย่างไรก็ไม่มีทางแก้ปัญหาแบบนี้ได้ ฟังแล้วก็น่าเจ็บใจ แต่ก็ไม่มีโอกาสเถียงได้เลย) ข้อสรุปคือเจ้าหน้าที่ให้พวกเราไปขนกระสอบทรายจากสำนักงานชลประทานมาปิดบริเวณประตูน้ำไว้พลาง ๆ ก่อน แต่เมื่อเกิดฝนตกขึ้นมาอีกครั้ง กระสอบทรายก็ไม่สามารถต้านทานแรงของน้ำจำนวนมหาศาลไว้ได้ ผลคือ น้ำท่วมเช่นเดิม

ครั้งที่สามเกิดน้ำท่วมในขณะที่ฝนตกไม่หนักในเวลาประมาณห้าทุ่ม เราโทรหาหัวหน้าหน่วยชลประทานสงขลา ได้คำตอบว่า ฝนตกอยู่บนเขาในปริมาณมาก ทำน้ำไหลลงคลองจำไหนหน้าศูนย์เป็นปริมาณมาก และทำให้น้ำท่วม วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายและดำน้ำลงไปก่อกระสอบทรายลงมาปิดบริเวณประตูระบายน้ำ ซึ่งไม่ได้ผลเช่นเดิม

ครั้งที่สี่ถึงครั้งที่เท่าใดนับไม่ถ้วนก็เกิดการประสานกันเช่นนี้ แต่น้ำก็ยังท่วมศูนย์อยู่ร่ำไป จนหัวหน้าหน่วยชลประทานสงขลาตัดสินใจบอกว่าจะใช้งบประมาณฉุกเฉินที่มีสั่งหล่อประตูน้ำใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน ท่านให้สัญญาว่าจะมาติดตั้งให้เรียบร้อยก่อนปีใหม่ พวกเราก็ดีใจว่าจะจบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนี้ได้แล้ว พร้อมกับการเฉลิมฉลองปีใหม่

เมื่อใกล้ปีใหม่ก็ได้รับโทรศัพท์จากท่านว่า ทางร้านหล่อประตูให้ลูกน้องหยุดงานปีใหม่จึงไม่สามารถหล่อประตูระบายน้ำได้เสร็จทันก่อนปีใหม่ แต่หลังจากปีใหม่ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยแน่นอน

และแล้ว..

น้ำก็ท่วมหาดใหญ่ในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม 2555 Peace Village ก็เกิดท่วมหนักที่สุดเท่าที่เราเคยพบเจอ เหลือเฉพาะบริเวณที่เป็นสำนักงานเท่านั้นที่น้ำท่วมไม่ถึง สิ่งที่ทำได้เช่นเดียวกับชาวหาดใหญ่ทุกคนคือ ยกของขึ้นที่สูง และกวาดล้างเมื่อน้ำลด

หลังจากปีใหม่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เราสอบถามความคืบหน้าเรื่องประตูระบายน้ำ และพบว่าตอนนี้ได้หล่อเสร็จเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงติดต่อรอช่างให้มาทำการติดตั้งโดยด่วนที่สุด

แล้วน้ำก็ท่วมอีกครั้ง ครั้งนี้หนักว่าวันปีใหม่ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกคนต้องอพยพออกจากศูนย์ เพราะไม่เชี่ยวชาญพื้นที่ เนื่องด้วยเราเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ไม่ถึงสามเดือน ความท้อแท้เกิดขึ้นในหัวใจว่าเราจะสร้าง Peace Village ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ความดีใจก่อนหน้านี้ที่คิดว่าเรามีพื้นที่ที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ความแตกต่าง เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น เริ่มเลือนราง ตามมาด้วยทางออกในหัวสมองคือ “ย้ายออก” หรือ “ไม่ย้าย”

ผ่านไปอีกประมาณสองสัปดาห์ก็มีโทรศัพท์แจ้งว่าช่างรับเหมาจะมาติดตั้งประตูระบายน้ำให้ แต่ตอนนี้เราทุกคนไม่มีใครสนใจกับเรื่องราวเหล่านี้แล้ว รอเพียงถึงวันฝนตก ก็จะเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต การโต้เถียง ความขัดแย้ง ความเครียดเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่กับอาสาสมัครนานาชาติ แต่คำตอบสุดท้ายคือเราไม่สามารถจัดการกับธรรมชาติได้ กล่าวคือ เราหยุดฟ้าฝนไม่ได้

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ฝนห่างหายไป เนื่องจากหมดฤดูมรสุม เดินผ่านไปบริเวณหน้าศูนย์เห็นวงล้อเหล็กขนาดใหญ่ถูกติดตั้งอยู่ เดินเข้าไปใกล้ก็รู้ว่าเป็นประตูระบายที่ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เกิดคำถามขึ้นมาเล่น ๆ ว่า เมื่อใดฝนจะตกหนัก ๆ ลงมาอีกหนา จะได้ทดสอบประสิทธิภาพของประตูระบายน้ำอันใหม่นี้เสียหน่อย จนถึงวันนี้กลางเดือนมีนาคมก็ไม่มีฝนตกหนักลงมาเสียที มีแต่ตกปรอย ๆ พอให้ไอดินระเหย พอให้เป็นหวัดคัดจมูก

อุปสรรคแรกผ่านพ้นไปแล้ว รออุปสรรคต่อไปให้พวกเราได้เรียนรู้และฝ่าฟัน

Gate/VSA