แบ่งปันประสบการณ์การไปเข้าร่วมกิจกรรม Go Green training in Portugal 2023
“Go Green Training in Portugal 2023” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือผู้ที่สนใจและกำลังขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านการศึกษาดูงาน การเข้าร่วมสัมมนา และการสร้างเครื่องมือเพื่อใช้สำหรับวัดและประเมินผลด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 100 แห่ง จาก 4 ประเทศ คือ ประเทศไทย เวียดนาม โรมาเนียและโปรตุเกส โดยกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ในเมืองเวียนา โด กัสเตโล (Viana do Castelo) เมืองวิลา โนวา เด ฟามาลิเคา (Vila Nova de Famalicão) และเมืองปอร์โต้ (Porto) ประเทศโปรตุเกส
กิจกรรมวันที่ 1 “Greeting to know each other”
กิจกรรมวันแรกเป็นการทำความรู้จักอาสาสมัครจากทั้ง 4 ชาติ ผ่านการเล่นเกม กิจกรรมกลุ่ม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม (Cultural night) โดยกิจกรรมที่ประทับใจมากที่สุด คือ กิจกรรม “Group activity – Explore Viana do Castelo! Mission (im)possible” ที่ให้อาสาสมัครทุกคนช่วยกันทำเป้าหมายทั้ง 10 ข้อ เช่น เขียนชื่อโครงการ Go Green บนชายหาด, เก็บขยะบนชายหาด 10 ชิ้น, สัมภาษณ์ครอบครัวคาราวาน 1 ครอบครัว, ทำพีระวิดคน 3 ชั้น ฯลฯ ซึ่งทุกคนในทีมช่วยกันวางแผนและทำงานเป็นอย่างดี จนสามารถทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จลุล่วงภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ยังช่วยให้อาสาสมัครได้เผยแพร่วัฒนธรรมอันดีของไทย ผ่านการสอนพูดทักทายและขอบคุณเป็นภาษาไทย และสอนการรำวงมาตรฐานประกอบเพลงลอยกระทง
กิจกรรมวันที่ 2 - 3 “Study visit”
กิจกรรมวันที่สองและสามเป็นการไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และการร่วมกลุ่มของเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในสังคม เช่น “Municipality in SDG action” หน่วยงานที่สร้างแผนการขับเคลื่อนงานของเมือง Porto ให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด SDG ของประเทศ, “REFOOD” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีเป้าหมายเพื่อลดการทิ้งอาหารที่ยังดีและไม่หมดอายุ โดยนำอาหารเหล่านั้นมาแปรรูปและส่งต่อไปยังผู้คนหรือชุมชนที่ต้องการ, “Bem Da Terra” องค์กรที่สร้างพื้นที่การศึกษาเพื่อความยั่งยืน มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากระบบการทำงานของธรรมชาติ, “Gondifelos school” โรงเรียนขนาดเล็กที่ส่งเสริมการสร้างพื้นที่ทางการเรียนรู้แก่ผู้เรียนและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงเรียน, และ “Cicloficina” การรวมกลุ่มของเยาวชนที่นำอะไหล่ของจักรยานเก่าที่พังแล้วมาสร้างเป็นจักรยานใหม่ โดยมีแนวคิดที่ว่า การแบ่งปันความรู้และเครื่องมือฟรีมีความสำคัญต่อการเติบโตของชุมชนจักรยาน เป็นต้น
กิจกรรมวันที่ 4 - 5 “Discussion final output”
กิจกรรมวันที่สี่และห้าเป็นการนำเสนอข้อเสนอแนะในการปรับแก้ข้อคำถามจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การให้ข้อคิดเห็นและหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อสร้างเครื่องมือกลางที่สามารถใช้วัดและประเมินผลการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในทั้ง 4 ประเทศได้ โดยในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นภาษาต่าง ๆ จากนั้นส่งไปยังองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรประเทศละ 25 องค์กร เพื่อทำการตอบแบบสอบถาม และตัวแทนจากแต่ละประเทศจัดทำรายงานการประเมินผลต่อไป
กิจกรรมวันที่ 6 - 7 “Conference day”
กิจกรรมวันที่หกและเจ็ดเปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้เข้าร่วมงานสัมมนา “The International Congress : Erasmus+, a catalyst for transformation” โดยโฟกัสประเด็นความยั่งยืนหลากหลายมิติในสังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยให้อาสาสมัครได้เห็นมุมมองการขับเคลื่อนงานในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในประเทศโปรตุเกสและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป
กิจกรรมวันที่ 8 “Leisure time”
กิจกรรมวันสุดท้ายทางองค์กรผู้จัดงานได้พาอาสาสมัครไปเรียนรู้การเล่นเซิร์ฟบอร์ด (Surfboard) ซึ่งเป็นกีฬาทางน้ำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากในประเทศโปรตุเกส ทำให้อาสาสมัครส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเล่นกีฬาชนิดนี้มาก่อน ได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ตื่นเต้นและประทับใจ สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ VSA Thailand ที่ให้โอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมดี ๆ ในครั้งนี้ โดยตั้งใจจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปส่งต่อแก่คนรอบข้างและถ่ายทอดให้กับนักเรียนของตนเอง เพื่อจุดประกายความฝัน ความหวัง และกำลังใจที่จะทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป
By Unchalee Srichomphu