ยุโรปหน้าร้อนที่ผ่านมาก็ไม่ได้แย่สักเท่าไหร่นะ

สวัสดีครับผมชื่อ นัท นัทกฤษ ยอดราช อายุ 23 ปี เพิ่งเรียนจบโบราณคดี จากศิลปากรมาได้เกือบจะครบปีแล้ว ระหว่างที่ได้ลองทำงานไปสักระยะ ก็เลยได้มาเจอกับ VSA และโปรเจคต่าง ๆ จากคำแนะนำของเพื่อนหลังจากกำลังตามหาอะไรทำที่ท้าทายชีวิตเติมไฟในการทำงานบ้างแล้ว นี่ถือเป็นครั้งแรกเลย กับการลองสมัครอาสาสมัครนานาชาติดู แต่ก็ด้วยความไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองมากเท่าที่ควร แต่ก็อยากไปลองดูสักตั้ง จึงเลยเลือกค่าย“ขุดค้นโบราณคดีสุสานชาวยิว ที่เมือง ZITTAU ประเทศเยอรมนี” ในตอนนั้นคิดเพียงว่าน่าจะเอาชีวิตรอดได้บ้าง ไหน ๆ ก็เรียนทางสายนี้มานี่นา ตอนแรกก็สนใจอาสาสมัครในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่รัสเซีย แต่สุดท้ายก็เลือกค่ายนี้ ขั้นตอนการสมัครกระชั้นชิดมาก ๆ เหมือนได้ตัดสินใจในช่วงนาทีสุดท้าย ทำให้ได้อารมณ์สนุกปนเร้าใจกันไป 

“นี่มันยุโรปเลยนะ” ตอนจะไปก็ตื่นเต้นอยู่ แต่พอไปถึงไปเหยียบครั้งแรกจริง ๆ มันกลับตรงกันข้ามเลย

ตอนนั้นคิดเพียงว่าจะพยายามทำตัวให้ดี ไม่มีปัญหา แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างนิดหน่อยในการปรับตัว การสื่อสาร และการร่วมกิจกรรมในระยะแรก ๆ เพราะในค่ายเป็นเด็กยุโรปเกือบทั้งหมด อายุราว  18-23 ปี บ้างก็โลกส่วนตัวสูง ความมั่นใจในตัวเองเยอะมาก บ้างก็หัวหมอ (นึกแล้วก็ขำเพราะมันไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่ทำให้ค่ายหยุดชะงัก) แต่ละคนเท่าที่สังเกตเรื่องมากคนละอย่าง ดื้อกันคนละแบบ (ก็คิดเสมอว่าเราก็น่าจะเป็นแบบเขาด้วย) เพราะแต่ละคนมาจากคนละที่ ทั้งอิตาลี สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เช็ก อังกฤษ ไทย ซีเรีย ยูเครน บางคนเรียนธรณีวิทยา บางคนเรียนวิศวะ บางคนเรียนดีไซน์ คนนึงเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ บางคนเรียนมัณฑนศิลป์ บางคนก็กำลังเรียนมัธยมปีสุดท้าย แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่ไม่ได้เป็นคนไทยคนเดียว (เจอคนไทยร่วมค่ายด้วย 1 คน ชื่อพริม ตอนนี้สนิทกันแล้ว) เลยรู้สึกว่าพอมีเพื่อนไว้ช่วยเหลือกัน ดีใจที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ

ที่ค่าย ความสะดวกสบายถือว่าเกินคาด มีหอพักน่ารัก ๆ ห้องน้ำรวม ครัวเล็ก ๆ และห้องใหญ่หนึ่งห้องสำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งประชุม ทานอาหาร เล่นเกม และปาร์ตี้  ที่พักและชีวิตส่วนใหญ่ของเราอยู่ในรั้วสวนสัตว์ของเมือง ซึ่งห่างออกมาไกลเมืองมาก บรรยากาศจึงอยู่ในท่ามกลางป่าใหญ่ ต้นไม้มากมาย มีเสียงตัวลามะแว่วมาไกล ๆ รอบ ๆ เป็นสวนสาธารณะ ลู่วิ่งในธรรมชาติ และสนามฟุตบอลเล็ก ๆ ที่มีคนมาพักผ่อน ออกกำลังเงียบ ๆ ตอนเย็น ๆ มีเจ้าหน้าที่ดูแลแทบทุกอย่างดีมาก แม้ว่าจะทำให้มีพวกเรามีพร้อมทุกอย่างเท่าที่เป็นความจำเป็นพื้นฐาน แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ร้องขอเพิ่มเติม หรือยินดีถกเถียงถึงความจำเป็นต่อสิ่งอื่น ๆ ได้ตามที่ต้องการได้ตลอดผมชอบการอยู่ร่วมกันในค่าย มีการปรึกษาพูดคุยตลอด เวลาไม่เข้าใจอะไรสักอย่าง เพื่อน ๆ ก็ช่วยกันแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่เขาก็พยายามทำให้เราอยู่ได้ ไม่ขาดตกบกพร่อง

ก่อนทำงานเจ้าหน้าที่จะพาเดินเข้าเมืองที่พวกเราอาศัยอยู่(Zittau) และเล่าความเป็นมาของเมือง ซึ่งอายุกว่า 750 ปี มีบรรยายจากไกด์ท้องถิ่น เล่าเรื่องสนุก ๆ พาชมสถาปัตยกรรม แนวทางเดินรอบเมืองที่เดิมเป็นกำแพง พาขึ้นหอคอยของโบสถ์กลางเมือง เอาภาพเก่า ๆ ของเมืองให้ดู ส่วนการขุดค้นทางโบราณคดีก็มีบรรยายวิธีทำงาน ที่ถูกต้องตามหลักการและให้เกิดปลอดภัย ฝึกด้วยการบรรยายก่อนนิดหน่อย แล้วพอทำจริงเจ้าหน้าที่ก็จะช่วยดูให้ ช่วย ๆ กันไป เพราะเกือบทั้งหมดไม่เคยทำงานในลักษณะนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่จึงมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ 3 คน กับเจ้าหน้าที่นักโบราณคดี 2 คน วันหยุดก็จะพาไปพักผ่อนที่ทะเลสาบ  ไปงานเทศกาลในเมือง พาไปชอปปิ้งที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือให้นั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองใกล้ ๆ เช่น เดรสเดรน หรือปราก จับกลุ่มแยกกันไป ตกเย็นในแต่ละวันก็จะแบ่งเวรกันทำอาหาร ต่างคนก็พร้อมจะทำอาหารที่ตนเองถนัด กับอาหารประจำชาติของแต่ละคนกันสนุกสนาน นี่คิดไปคิดมา ไปค่ายที่เยอรมนี แต่ได้กินอาหารเยอรมันนับวันได้เลย (น้อยมาก) อาหารการกินจึงเป็นอะไรที่คาดไม่ถึงได้เลยในแต่ละวัน

 งานโบราณคดีต่างประเทศในสายตาของเรา พบว่าเทคนิคเหมือนๆกับที่เรียนมาเลย แต่มีความแพรวพราวและคาดไม่ถึงในหลาย ๆ อย่างเพื่อเข้ากับปัจจัยอื่น ๆ แต่ละงาน อย่างงานนี้คือ ตามหาอาคารในพื้นที่สุสานของยิว อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 แต่ถูกรื้อไปช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทีนี้จึงเหลือเพียง “พิมพ์เขียวผังอาคาร” กับ “ภาพถ่ายเก่า ๆ สีขาวดำ” อยู่ จึงต้องขุดหาของจริง นักโบราณคดีก็จะโชว์การนำแผนผังและภาพถ่ายทางอากาศมาซ้อนทับกันให้เดาว่าแนวอาคาร ประตู กำแพง บันได กับพยายามหาหลักฐานอื่น ๆ แล้วตั้งคำถามชวนคิดต่อกับทีมงาน เด็ก ๆ และผู้มาเยี่ยมชม ถึงรูปแบบหน้าตาอาคาร สีสัน จะเป็น แบบไหน หลังคาจะเป็นอย่างไร ส่วนเว้าส่วนโค้ง ซุ้มประตูหน้าต่างจะอยู่ตรงไหน เครื่องมือเครื่องใช้บอกอะไรได้บ้าง

ส่วนตัวมองว่า การทำกิจกรรมนี้คุ้มค่ากับการลองเปิดใจ และใช้เวลากับสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ถ้าจะให้พูดถึงอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตที่ค่าย ตอนแรกก็คิดว่าคือ “สภาพอากาศ” เพราะเป็นอากาศที่ไม่คุ้นชิน ให้คนอื่นอธิบายก็ไม่เข้าใจ จนกว่าจะไปเจอด้วยตัวเอง ถ้าจะว่าไปจะบรรยายอากาศในตอนนั้นให้ฟัง นี่ขอนิยามมันว่า “สภาพอากาศแอบแย่” ด้วยซ้ำ เพราะตอนที่ไปเป็นฤดูร้อน (ใคร ๆ ก็บอกว่าหน้าร้อนยุโรปเหมือนหน้าหนาวบ้านเราแหละ แดดจัด ๆ เสื้อผ้าบาง ๆ ก็อยู่ได้) แต่ที่ไหนเป็นฤดูร้อนที่อากาศผิดปกติ หนาวจัดอยู่เกือบครึ่งเดือน เจ้าหน้าที่ที่นี่เป็นคนเมือง Zittau ยืนยัน แต่ที่แน่ ๆ นะพอครึ่งเดือนหลัง อากาศเหมือนจะกลับมาเป็นปกติ เป็นฤดูร้อนที่สมกับฤดูร้อน ตอนขุดโบราณคดีจากที่หมอกลงจัด เปลี่ยนมาเป็นขุดท่ามกลางแดดจ้า ลมเย็น ๆ แต่ก็ชวนร้อน ขุดดินกันไปเหงื่อไหลไคลยอยกันเลยทีเดียว มันจึงทำให้ได้เรียนรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว อุปสรรคที่แท้จริง คือ “ตัวเรา” ต่างหาก เราต้องเจอผู้คนมากมายที่เพิ่งเจอหน้ากันครั้งแรก ต้องอยู่ร่วมกันกับใครก็ไม่รู้ นิสัยก็ต้องพยายามจูนเข้าหากัน มันเหมือนอากาศหนาวเย็น เย็นยะเยือก เงียบ ๆ เปลี่ยว ๆ เหงา ๆ การจะต้องทำงานในอีกรูปแบบ เรียนรู้ความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะเจ้าหน้าที่เป็นคนเยอรมัน ค่อนข้างเนี๊ยบ ตรงเวลา แอบดุทุกครั้งที่เด็ก ๆ ไม่มีวินัย มันเหมือนอากาศที่ไม่คุ้นชิน หมอกจัดที่พรางบังตา ขัดกับความสบายที่เคยใช้ชีวิตก่อนมา ในขณะเดียวกัน เมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น ได้พบได้เจอได้รู้ที่จะหยิบยื่น ปล่อยวาง มารยาทในการเข้าสังคมตรงหน้าที่เข้าใจมากขึ้น ทั้งเวลาว่างจากการทำงาน และในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ การแชร์ประสบการณ์ รวมถึงการถกเถียงเรื่องสาระต่าง ๆ และไร้สาระนานา ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้เราแข็งแรงขึ้นทั้งกายทั้งใจ มันอุ่นขึ้นมาก มันเหมือนมีแสงแดด มันมีรสชาติให้ได้ออกเหงื่อ ให้ได้ก่นด่าในการปรับตัวช้าของตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็รู้สึกสนุก

ในช่วงที่ชีวิตลงตัวแล้วนั้น มันช่างต่างกับ “วินาทีแรกที่เหยียบยุโรปครั้งแรกในชีวิต” ก่อนหน้านี้มาก

ตอนนี้ก็ได้กลับมาย้อนมองตัวเองว่าอะไรบ้างที่ขาดตก อะไรบ้างที่ต้องปรับปรุง หรือพัฒนามากขึ้นไปอีก รวมไปถึงได้มั่นใจว่าอะไรที่เป็นตัวจุดประกายความฝันใหม่ ๆ ในอนาคต ขอบคุณประสบการณ์ดี ๆ ขอบคุณ VSA ขอบคุณพี่แพร ขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคน หวังว่าจะได้พบกันอีก

นัทกฤษ ยอดราช (นัท)