Japan

Bank in Maki Farm

สวัสดีครับผมแบงก์ครับ อายุ 24 ปี นับเป็นครั้งที่สามของผมในการเดินทางไปต่างประเทศเพียงคนเดียว และสำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกกับการเป็นอาสาสมัครต่างแดน เนื่องจากผมต้องการค้นหาตัวเอง เรียนรู้อะไรบ้างอย่างจากโลกภายนอก ผมจึงตัดสินใจเลือก Kyodo Gakusha Maki Farm จังหวัดนะกาโนะ ประเทศญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทาง เพื่อต้องการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ สนทนาเป็นภาษาญี่ปุ่นที่ผมได้ศึกษาด้วยตัวเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนท้องถิ่นและตนเองมากที่สุด เพื่อเป็นการท่องเที่ยว และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

ผมใช้เวลาวางแผนการเดินทางตั้งแต่ผมออกจากงานเพราะกลัวหลงในกรุงโตเกียว เอาเข้าจริง ๆ การเดินทางในญี่ปุ่นค่อนข้างง่ายและสะดวกสบาย ระบบขนส่งของญี่ปุ่นเป็นระบบที่ดีระดับต้น ๆ ของโลก และทรัพยากรธรรมชาติ อาหารการกินก็ชวนให้หลงใหลเสียจริง

เช้าวันแรกของการนัดหมาย ผมเดินทางจากชินจูกุโดยรถบัสเพื่อไปยังจุดนัดพบที่ สถานีรถไฟ Minimi otari ในจังหวัดนากาโนะ (แอบสังเกตเห็นอาสาสมัครคนอื่นๆ ด้วย ใช่หรือเปล่านะ!!!) ผมได้พบกับอาสาสมัครคนอื่นๆ ที่มาถึงสถานีรถไฟกันแล้วช่างน่าประหลาดใจ ที่อายุของช่างแตกต่างกันมาก เพราะมีคู่สามีภรรยาจากสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เหมือนผมมาเที่ยวกับครอบครัวเลยล่ะครับ

เราทำความรู้จักกันได้ไม่นาน โดยมูเนะซังและสมาชิกอีก 3 คน จาก Maki farm มารับพวกเราขึ้นไปบนภูเขา พวกเขาตรงต่อเวลามาก พวกเราชาวค่ายสัมภาระไม่มากนักแต่เต็มไปด้วยแรงจูงใจที่เต็มเปี่ยมจึงปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อพร้อมจะขึ้นภูเขา

ฟาร์มของพวกเขาตั้งอยู่บนหุบเขาที่โดดเดี่ยวห่างไกลจากชุมชน เหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร ระยะทางการเดินเท้าประมาณ 2 ชั่วโมง อากาศที่นี่แปรปรวนฝนตกหนัก พื้นลื่นจากการทับถมของใบไม้ ช่างท้าทายให้เราก้าวเดิน แสงเริ่มน้อยลงเมื่อเราเข้าสู่ป่าสนที่สูงละลิ่ว พวกเราพบร่องรอยของหมีป่าบนต้นสน มูเนะซังชี้ให้พวกเราดูมันคือกรงเล็บหมี มันเป็นร่องรอยใหม่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน เขาบอกให้ทุกคนระวังตัว เราเดินห่างจากจุดนั้นได้ไม่นานก็พบกับหมีป่ากำลังปีนต้นไม้ใกล้ลำธาร ตัวมันใหญ่มาก ผมทั้งขาสั่น ใจเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะ เมื่อมันเห็นพวกเรามันก็วิ่งหนีไปอีกฝั่งของลำธาร ยังไม่นับรวมกับหมาป่าที่กำลังเข้ามาปลิดชีวิตลูกแพะของเราไป นี่เพียงวันแรกทำผมตื่นเต้นและสนุกเข้าแล้ว

 เราเดินกันมานานมากพอจนไม่รู้ว่าน้ำที่ห่อหุ้มร่างกายของเราเป็นเหงื่อหรือน้ำฝน มูเนะซังบอกกับพวกเราอีกครั้ง พร้อมกับชี้ไปยังบ้านสไตล์ญี่ปุ่นหลายหลัง นั่นคือสัญญาณว่า พวกเราถึงที่พักแล้ว ความเหนื่อยมลายหายไป สมาชิกในฟาร์ม ทำปาร์ตี้เล็กๆ เลี้ยงต้อนรับพวกเราอย่างง่ายๆ เราเริ่มคุยกันถึงการเดินทางและทำความรู้จัก ผมได้แนะนำตัวเป็นภาษาญี่ปุ่นและตามด้วยภาษาอังกฤษ ทุกคนเรียกผมว่า “แบงก์ซัง”

เช้าของวันที่สองและวันต่อๆ ไป พวกเราต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้า 05.30 น และเลิกงาน 18.00 น. (แต่มีเวลาพักให้นะครับ พวกเขาไม่ใจร้ายหรอก) งานที่ผมทำแต่ละวันค่อนข้างยาวนานและหนัก ใช้เครื่องมือจักรกลขนาดเล็ก ใช้มือเป็นส่วนใหญ่ งานหลักของการเป็นอาสาสมัครใน Maki farm คือการดูแลต้นข้าว ที่เรียกได้ว่าดูแลทะนุถนอมต้นข้าวทุกต้นกันเลยทีเดียว ตั้งแต่การกำจัดแมลง หอยที่เกาะอยู่ตามใบข้าว ตอนแรกผมก็ไม่กล้าทำ ไม่กล้าฆ่าสัตว์เล็ก แม้แต่ยุงผมก็ไม่เคยตบตี แต่ครั้งนี้ผมต้องทำเดี๋ยวจะอดมื้อเย็น (ฮาฮ่า) อีกทั้งต้องคอยปรับดิน กำจัดวัชพืชรอบต้นข้าวไปพร้อมๆ กันอีกด้วย และที่สำคัญผมต้องอยู่ในท่า หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เป็นระยะเวลานานมันก็มีปวดหลังบ้าง พวกเราเปลี่ยนอิริยาบถ สนทนากันไปหลายหัวข้อ บ้างก็สอนภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น ชี้นั่นเรียกว่าอะไร? โน้นเรียกว่าอะไร? ขำกลิ้งกันไปกลางหุบเขา สรุปได้ว่าแค่งานหลักของผมกว่าจะได้ข้าวไร้สารพิษกินสักจานมันช่าง.... วิเศษจริงๆ

มาต่อด้วยงานอีกหลายอย่างในฟาร์ม ที่พวกเราได้แบ่งงานกันทำหมุนเวียนกันไปในแต่ละวันนอกเหนือจากการทำนา เช่น ทำอาหารสัตว์ ผ่าฟืน คัดเมล็ดพันธุ์พืช ปลูกผัก เก็บผลผลิต ให้อาหารไก่และแพะ รีดนมแพะ และซ่อมแซมบำรุงสะพานข้ามลำธาร เป็นต้น ล้วนทำให้ผมสนุกและเกิดคำถามมากมาย เห็นความเหมือนและความแตกต่างของเกษตรกรรมบ้านเรา เกิดความสัมพันธ์และเปลี่ยนความคิดทางด้านเกษตรได้ดีทีเดียว อาจจะเหนื่อยหน่อยในบ้างครั้งเพราะต้องใช้ภาษากาย อ่อลืมบอกไปครับ พวกเราทำงานท่ามกลางสายฝนครับ ไม่มีหยุดเลย ไม่รักจริงทำไม่ได้นะครับ

หลังมื้อค่ำพวกเรามีประชุมกัน แชร์ประสบการณ์การทำงานของวันนี้ของแต่ละคน ใครทำอะไรบ้าง กับใคร มีปัญหาอะไรบ้าง และแบ่งงานที่ต้องรับผิดชอบของวันถัดไป พวกเราแยกย้ายกันพักผ่อน เราคุยกันเล็กน้อยรอบกองไฟเพื่อให้พวกเราอุ่นสบาย

ในฐานะที่ผมเรียนจบทางกายภาพบำบัด ผมได้หยิบความรู้มาใช้บ้าง เช่นสอน stretching exercise เล่นโยคะ และนวดเพื่อความผ่อนคลายหลังทำงานอย่างหนัก ทุกคนรู้สึกชอบและอาการเมื่อยล้าอาการปวดก็หายไป

บ่ายวันหนึ่งผมได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ไทย การปกครอง แผนที่ วัฒนธรรมไทยอย่างการไหว้ ยิ้มสยาม เทศกาลสงกรานต์ และปิดท้ายด้วยรำวงลอยกระทง เรียกเสียงฮือฮาที่สุด ทุกคนให้ความร่วมมือในการร่ายรำอย่างสนุกสนาน มีเสียงหัวเราะออกมาเป็นระยะ และบอกชอบอาหารไทย อยากลองทาน ผมก็ไม่รีรอรับปากจะทำให้กินเป็นมื้อค่ำของวันนี้ ผมแสดงฝีมือด้วยการทำต้มยำและแกงเขียนหวานไก่ ทุกคนบอกเป็นภาษาไทยว่า “อร่อยมากๆ สุโค่ย” ผมยิ้มแก้มปริ และบอกกับพวกเขาว่าอาหารญี่ปุ่นก็อร่อยเหมือนกัน ง่ายๆ เน้นผักปลอดสารพิษที่มาจากฟาร์มพวกเขาเอง ดีต่อสุขภาพ เมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาพ โชคไม่ดีนักเมื่อสมาชิกหนึ่งคือ มิสึโฮะซัง เขาอายุมากแล้ว ยังทำงานหนักเดินขึ้นภูเขา อีกทั้งยังมีโรคประจำตัวหลายโรคด้วยกัน เช้าวันหนึ่งพวกเราก็พบว่า เขามีอาการพูดไม่ชัด และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผมได้แนะนำให้พวกเขาพาเขาส่งโรงพยาบาลโดยด่วน อาการเหล่านี้คือสัญญาณของอัมพาตครึ่งซีก พวกเขารีบติดต่อโรงพยาบาลทันที และช่วยกันเคลียร์พื้นที่โล่งบนเขาในการลงจอดเฮลิคอปเตอร์จากโรงพยาบาล อาการของมิซึโฮะซังดีขึ้นหลังจากรักษาตัวที่โรงพยาบาล เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเห็นความรักเอาใจใส่ของสมาชิก พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของสมาชิกทุกคน และเจอเหตุการณ์ครั้งที่สอง เมื่อ Pie และ We สองสามีภรรยาที่ต้องสูญเสียมารดาไปอย่างกะทันหันด้วยโรคร้าย พวกเขาบอกกับทุกคนว่า ไม่ต้องกังวล พวกเขาทำใจได้ เราจะอยู่ด้วยกัน และทำงานจนวันสุดท้าย ทุกคนต่างแสดงความเสียใจและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผมได้ข้อคิดว่า ทุกคนมีปัญหาเหมือนกันหมดจะมากจะน้อยก็แล้วแต่กรรมของแต่ละบุคคล สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของความคิด ทุกคนคิดจัดการปัญหาของตัวเองได้อย่างไร ให้ผลมันออกมาดีที่สุด

คืนสุดท้ายของการร่ำลาพวกเราได้มีโอกาสได้ทำอาหารค่ำร่วมกันเป็นมื้อสุดท้าย เป็นการขอบคุณที่ดูแลพวกเรามา พวกเราร้องเล่น เต้นด้วยกันอย่างสนุก บอกความประทับใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฟาร์ม ผมมองไปรอบๆบ้าน มองหน้าทุกคนจำเหตุการณ์ที่เราได้ทำงานร่วมกัน ถึงแม้ผมไม่สามารถใช้ภาษาสื่อสารได้ดี เพียงแต่ผมใช้ใจสื่อสารกับพวกเขา ผมบอกกับทุกคนว่า “ผมรักที่นี่มากไม่อยากกลับประเทศเลยครับ ชีวิตแบบนี้มันใช่ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมอยากทำในสิ่งที่ผมรัก และสักวันหนึ่ง พื้นที่เล็กๆ ของบ้านอาจกลายเป็น Maki farm 2 ก็เป็นได้ แล้วผมจะกลับมา” เราเก็บข้าวของ แล้วพร้อมกันหน้าบ้าน Arayashiki พวกเราร่ำลากันครั้งสุดท้าย เดินจากฟาร์มกันไปอย่างช้าๆ มองหันกลับไปทิ้งรอยยิ้มของความประทับใจและนำประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครกลับไป